ความคล้ายคลึงกันของวิถีประชาธิปไตยในสังคมไทยและสังคมโลก
วิถีประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สังคมโลกส่วนใหญ่ให้การยอมรับ โดยยึดหลักว่าเป็นการปกครองเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ยึดถือประชาชนเป็นใหญ่ สังคมประชาธิปไตยในแต่ละประเทศจึงมีความคล้ายคลึงกัน เช่น
1. การยอมรับเสียงส่วนใหญ่และเคารพเสียงส่วนน้อย โดยมีหลักการว่า ความคิดเห็นของคนในสังคมย่อมแตกต่างกัน เมื่อมีการแสดงความคิดเห็นแล้ว จะต้องยอมรับมติของเสียงส่วนใหญ่ที่มีพื้นฐานของเหตุและผล ขณะเดียวกันก็ยอมรับเสียงส่วนน้อย โดยไม่มองว่าเป็นความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้องหรือมองเห็นเป็นข้อขัดแย้ง
2. การมีเสรีภาพในการแสดงออกทางด้านต่าง ๆ เช่น แสดงความคิดเห็น การเขียน การพูด การพิมพ์ การชุมนุมประท้วง เป้ฯต้น โดยการแสดงออกเหล่านี้ต้องมีความชอบธรรม เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก
3. เคารพในสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในทางชอบธรรม โดยมีหลักการว่า บุคคลในสังคมประชาธิปไตยต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาพโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ภาษา เพศหรือสภาพทางกาย
4. การเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม บุคคลในสังคมประชาธิปไตยควรมีส่วนร่วมในสังคมอย่างชอบธรรม เช่น การคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การออกเสียงเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ การติดตามและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เป็นต้น
5. การยึดมั่นในหลักเหตุผล คือ การแก้ไขปัญหาหรือหารือข้อสรุปในประเด็นต่าง ๆ ต้องยึดหลักเหตุผลโดยชอบธรรมเป้ฯเกณฑ์ในการตัดสินใจเสมอ
6. การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี เมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น จะใช้กติกาของสังคมในรูปวิถีประชา จารีตประเพณี กฎหมาย มาตัดสินโดยไม่ใช้ความรุนแรง
7. การเคารพในหลักอธิปไตยของรัฐ คือ การไม่กดขี่และเอารัดเอาเปรียบรัฐอื่น ไม่คุกคามรัฐอื่นโดยใช้กำลัง ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน หลีกเลี่ยงการทำสงครามและการทำลายล้างโดยใช้อาวุธสงครามทุกรูปแบบ
หลักการเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานที่ประเทศที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ยึดถือเป็นแนวเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น